วันจันทร์, กันยายน 9, 2024
ข่าวการศึกษา

สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เร่งขยายเครือข่ายความร่วมมือการจัดทวิภาคีคุณภาพสูง

สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เร่งขยายเครือข่ายความร่วมมือการจัดทวิภาคีคุณภาพสูง กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา “สร้างเครือข่ายและความร่วมมือ เป้าหมายผลิตแรงงานคุณภาพสูงสู่สากล”

เมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2567 เวลา 9.30 น. นายอรรถการ ตฤษณารังสี นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 นายสมศักดิ์ บุญโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ดร.พีลิน สกุลณา กรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันฯ เข้าพบ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการาอชีวศึกษา ร่วมประชุมหารือแนวทางความร่วมมือผลิตแรงงานคุณภาพสู่งสากล ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ประเด็นหารือ ได้แก่ โครงการทวิภาคีต่างประเทศ (ผู้สำเร็จการศึกษาสมรรถนะสูง โดยความร่วมมือสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 กระทรวงแรงงาน มูลนิธิ IM Japan) โครงการวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาระบบทวิภาคี และโครงการ Smart TAX สร้างความยั่งยืนระบบทวิภาคี ซึ่งโครงการทวิภาคีต่างประเทศ ผู้สำเร็จการศึกษาสมรรถนะสูง นักศึกษา ได้รับประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงาน เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นปัจจุบันของประเทศที่เป็นต้นแบบภาคอุตสาหกรรมและ Soft Power ผู้สำเร็จการศึกษาได้คุณวุฒิการศึกษา ได้คุณวุฒิวิชาชีพ ได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน ได้ประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงานทางเทคนิคจาก IM Japan ซึ่งองค์กร IM Japan เป็นองค์กรที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ มุ่งเน้นการพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาทางอาชีพในประเทศญี่ปุ่น โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมทางอาชีพและการบริหารจัดการที่เน้นความสามารถในการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ท้าทาย ในโลกอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้กระทรวงแรงงาน ซึ่งรูปแบบการพัฒนาคนลักษณะนี้จะกำหนดเป็น “ต้นแบบการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศต่อไป”

โครงการวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาระบบทวิภาคี โดยแนวคิดที่จะประสานกับสำนักงานข้าราชการพลเรือนเพื่อกำหนดค่าจ้างสำหรับผู้ที่จบการศึกษาระบบทวิภาคีของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและ โครงการ Smart TAX การจัดการศึกษาทวิภาคี ตาม พรบ.อาชีวศึกษาปีพ.ศ. 2551 มาตรา 54 เป็นการร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการลดหย่อนภาษี ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้สถานประกอบการไม่ได้รับความสะดวกในการรับสิทธิประโยชน์ ซึ่งทั้งสามโครงการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้ความสนใจเพราะ เป็นภารกิจที่จะก่อเกิด “ทวิภาคีสมรรถนะสูง” ได้ให้คำแนะนำและเห็นด้วยกับการดำเนินโครงการโดยให้ประสานงานร่วมกับกลุ่มงานทวิภาคีของสำนักงานคณะกรรมการการอ่าชีวศึกษาเพื่อศึกษาแนวทางและดำเนินการต่อไป และขอให้ดำเนินการทั่วประเทศทั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐและอาชีวศึกษาเอกชนซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการอาชีวศึกษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต สอดคล้องการประชุมนายกสภาสถาบัน 23 แห่ง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่เห็นชอบให้ดำเนินโครงการร่วมกับมูลนิธิ IM Japan อย่างเป็นเอกฉันท์ ส่วนการประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ก็ได้รับการเห็นชอบโครงการฯและให้สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เป็นผู้นำและศูนย์การขับเคลื่อนโครงการ IM Japan ของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา

การประชุม หารือในครั้งนี้จะเสริมสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งของการบริหารจัดการอาชีวศึกษาในรูปแบบทวิภาคีทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สมบูรณ์ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์สมเหตุผล อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.